Thursday, December 12, 2019

“ออง ซาน ซูจี” ขึ้นศาลโลก ปฏิเสธข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา



นางซู จี กล่าวเปิดการชี้แจงและแก้ต่างต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือ ศาลโลก ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวานนี้ (11 ธ.ค.) ปฏิเสธข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา โดยระบุว่า ข้อกล่าวหาต่อเมียนมาที่แกมเบียนำเสนอต่อศาลเป็นข้อมูลที่ "ไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง" ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิด พร้อมระบุว่า ปัญหาความรุนแรงในรัฐยะไข่เป็นเรื่องซับซ้อนและมีมานานย้อนกลับไปหลายร้อยปี


นางซู จี ชี้แจงว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่รัฐยะไข่ในปัจจุบันมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับกลุ่มติดอาวุธที่มีแนวคิดสุดโต่ง เช่น กลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวพุทธ Arakan Army ที่ต้องการปกครองตนเอง หรือเอกราชในรัฐยะไข่ ส่งผลให้พลเรือนจำนวนมากในรัฐยะไข่ต้องหนีความรุนแรงออกจากพื้นที่


นอกจากนี้ยังมีกองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน หรือ อาร์ซา (ARSA) ซึ่งก่อเหตุโจมตีป้อมตำรวจหลายแห่งในมืองมองดอว์ ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ใกล้กับพรมแดนบังกลาเทศ ส่งผลให้เกิดความรุนแรงครั้งใหญ่ในปี 2017 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน และชาวโรฮิงญากว่า 73,000 คน ต้องอพยพลี้ภัยหนีตายเข้าไปยังบังกลาเทศ

“เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง ที่แกมเบียนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาล โดยบิดเบือนสถานการณ์ที่แท้จริงในรัฐยะไข่ ของเมียนมา เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ศาลจะพิจารณาประเมินสถานการณ์และได้รับข้อมูลจริงจากพื้นที่อย่างไร้อคติและแม่นยำ” ออง ซาน ซูจี กล่าว


ขณะที่บริเวณนอกศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กลุ่มชาตินิยมเมียนมารวมตัวกันถือป้ายข้อความและรูปภาพของซูจี เพื่อร่วมให้กำลังใจและสนับสนุนซูจีในการต่อสู้คดี


ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมอีกจำนวนหนึ่งต่างตะโกนข้อความเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวโรฮิงญา พร้อมกล่าวหาซูจีว่าเป็นผู้ที่ทรยศต่อประชาคมโลก


ในวันเดียวกัน (11 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ แสดงความไม่พอใจระหว่างชมการถ่ายทอดสดจากศาลยุติธรรม พร้อมทั้งกล่าวหาว่า ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้การเท็จต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ด้วยการพูดคำโกหกทั้งหมดเพื่อที่จะได้มีอำนาจต่อไปในรัฐบาล ทั้งที่ความเป็นจริงทหารเมียนมาจับชาวโรฮิงญาไปทรมาน สังหาร ข่มขืน และเผาบ้านชาวโรฮิงญาไปแล้วเป็นจำนวนมาก


ทั้งนี้ การตัดสินคดี จะต้องใช้เวลาอีกหลายปี ซึ่งขณะนี้ แกมเบีย ได้ยื่นขอให้ศาลกำหนดมาตรการชั่วคราวเพื่อปกป้องชาวโรฮิงจาในเมียนมาและประเทศอื่นๆ จากภัยคุกคามหรือความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น


นอกจากนี้ หากผลตัดสินมีความผิด นาง ออง ซาน ซู จี และ กองทัพจะไม่ถูกจับกุม หรือ โดนไต่สวน แต่การพิจารณาคดีอาจนำไปสู่การคว่ำบาตร ทั้งยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง และเศรษฐกิจที่สำคัญต่อเมียนมาต่อไป


อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ศาลโลกมีการขึ้นบันลังค์พิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์



ที่มาของคลิป: VOA Thai
https://www.youtube.com/watch?v=bIfWFBpRMjk
ที่มาของข้อมูล:
https://workpointnews.com/…/myanmar-justice-rohingya-genoc…/
https://www.bbc.com/thai/international-50743093
https://news.thaipbs.or.th/content/287002

กองทัพอิสราเอลสังหารเด็กกาซ่า 50 คน ภายใน 2 วัน

แคทเธอรีน รัสเซลล์ ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรยูนิเซฟ UNICEF ออกแถลงการณ์ประณามการโจมตีที่นองเลือดในฉนวนกาซาเหนือเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย...