Saturday, December 23, 2017

ตีแผ่เหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านตูลาโตลี้

ตีแผ่เหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านตูลาโตลี้ - เรื่องราวของชาวโรฮิงญาที่ถูกรุมข่มขืน เด็กๆ ถูกจับเผาทั้งเป็น และการสังหารชาวโรฮิงญา


“พวกเขา (ทหาร) ฆ่า แล้วก็ฆ่า และจับศพวางทับซ้อน ๆ กันลงไปจนสูง เหมือนกับการตัดไม้ไผ่”  
นางมุมตัสซ์ หญิงชาวโรฮิงญาจากหมู่บ้านตูลาโตลี้ในทางตะวันตกของพม่า เล่าเรื่องโศกนาฏกรรมที่นางประสบกับตัวเอง

นางมุมตัสซ์และลูกที่ช่วยเธอรอดชีวิตจากการถูกเผาทั้งเป็น

“ในกองนั้นมีทั้งคอ ศีรษะ ขาของใครบางคน ฉันออกมาจากกองนั้นได้ แต่ก็ไม่รู้เลยว่าออกมาได้ยังไง”  เหตุสยองขวัญที่มุมตัสซ์ต้องเผชิญไม่ได้จบแค่ตรงนั้น  หลังจากที่หลบหนีออกมาจากกองศพของชาวโรฮิงญาที่ถูกทหารสังหารหมู่  นางมุมตัสซ์เล่าต่อว่า นางได้เจอกับทหารพม่า พวกเขาจึงลากนางไปที่บ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านและรุมข่มขื่นนาง  จากนั้นนางถูกขังในบ้านไม้หลังนั้นและพวกเขาได้จุดไฟเผา  แต่ปรากฏว่าลูกสาววัย 7 ขวบชื่อราซิยะฮฺได้ช่วยชีวิตนางเอาไว้


 “หนูเรียกแม่ และแม่ถามหนูว่า เธอเป็นใคร?’” เด็กเล่าให้ฟัง “แม่หนูหัวแตก แม่หนูถูกโยนไว้มุมหนึ่งของกระท่อม  พวกทหารทุบตีหนู แล้วได้โยนหนูเข้าไปในกระท่อมหลังเดียวกัน  หนูบอกกับแม่ว่าไฟไหม้นิ้วแม่ จากนั้นทั้งแม่และหนูหนีออกมาได้และพากันวิ่งหนี”   ทั้งแม่และลูกสาวได้บีบตัวผ่านบางส่วนของรั้วที่ถูกทำลาย และพากันไปหลบตามท้องร่องสวนก่อนที่ชาวบ้านมาพบ และพากันช่วยแม่ลูกคู่นี้ลี้ภัยข้ามไปยังบังกลาเทศ โดยตอนนี้มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแล้ว 615,000 คน นับตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา อ้างตัวเลขจากองค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัย


ด.ญ.ราซิยะฮฺวัย 7 ขวบถูกทหารพม่าทำร้ายขณะที่ทั้งหมู่บ้านถูกทหารบุกเข้าโจมตี โดยทั้งครอบครัวของเด็กเสียชีวิตทั้งหมด แต่เด็กได้ช่วยแม่ให้รอดชีวิตจากการถูกเผาทั้งเป็น


ผู้ลี้ภัยหนีการปะทะกันอย่างรุนแรงในรัฐทางตอนเหนือของรัฐยะไข่  โดยกองทัพของพม่าได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเรียกว่า "การกวาดล้าง" ที่อ้างว่าพุ่งเป้าหมายการโจมตีไปที่ "ผู้ก่อการร้าย" หลังจากกองกำลังติดอาวุธชาวโรฮิงญาได้โจมตีป้อมตำรวจหลายแห่ง สังหารเจ้าหน้าที่ไป 12 นาย
ส่วนทางยูเอ็นอธิบายถึงเหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ว่า  “คือตัวอย่างตำราของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”  และเหตุสังหารพลเรือนในหมู่บ้านของมุมตัสซ์ในวันที่ 30 สิงหาคมถือว่าเป็นหนึ่งในการกระทำที่เหี้ยมโหดที่สุดโดยกองทัพพม่าในช่วงสองเดือนครึ่งที่ผ่านมา  


สารคดีเหตุการณ์สังหารหมู่
นายชาฟิอุรฺ เราะฮฺมาน ผู้ผลิตสารคดีชีวิตชาวโรฮิงญาเชื้อชาติบังกลาเทศ-สัญชาติอังกฤษ ได้ยินเรื่องเหตุการณ์ที่ตูลาโตลี้ครั้งแรกหลังจากที่เขาได้ไปเฝ้าถ่ายทำชาวโรฮิงญากลุ่มหนึ่งที่ข้ามพรมแดนระหว่างเมียนมาร์และบังกลาเทศในวันที่ 2 กันยายน ซึ่งเป็นเวลาสามวันหลังจากการสังหารหมู่


“มันได้กลายเป็นความชัดเจนในเวลาที่รวดเร็วจากการได้ยินเรื่องเล่าที่สยองขวัญของชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยมาจากตูลาโตลี้ที่เกิดขึ้น 3 วันที่ผ่านมา และสิ่งที่ทำให้ผมไม่คาดคิดมาก่อนก็คือการได้ยินเรื่องเล่าต่างๆ จากผู้รอดชีวิตที่สอดคล้องกันไปหมด”  นายเราะฮฺมานได้กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น
นายเราะฮฺมานได้พบกับมุมตัสซ์และราซิยะฮฺในบังคลาเทศในช่วงสิ้นเดือนกันยายน สภาพนางมุมตัสซ์เหมือนกับมัมมี่ที่มีผ้าพันแผลเต็มหน้า และนางต้องนอนอยู่ที่คลีนิคเป็นเวลา 15 วัน ไม่สามารถพูดอะไรได้ หรือแม้กระทั่งไม่สามารถจิบน้ำจากแก้วได้เลย  พอประมาณกลางเดือนตุลาคม แผลที่ไหม้ที่หน้าและลำตัวเริ่มค่อยๆ ฟื้นตัว  และนางมุมตัสซ์เริ่มให้สัมภาษณ์เรื่องราวของนางกับนายเราะฮฺมาน


เรื่องราวของการถูกรุมข่มขื่น  การสังหาร และการลอบวางเพลิง ถูกเล่าโดยชาวโรฮิงญาผู้ลี้ภัยหลายแสนคนที่หลบหนีมาจากเมียนมาร์  แต่นายเราะฮฺมานเลือกสัมภาษณ์ชาวโรฮิงญา 30 คนที่เคยอาศัยในตูลาโตลี้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา  


องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลอธิบายไว้ในรายงานฉบับประจำเดือนตุลาคม ปี 2017  "ดูเหมือนว่าเป็นหนึ่งในการกระทำที่เลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่งของแคมเปญการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของกองทัพเมียนมาร์"  องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เชื่อมั่นตามหลักฐานของเรื่องเล่าต่างๆ จากปากของพยานที่ได้ยืนยันว่า ทหารเมียนมาร์ได้สังหารหมู่ที่มีเหยื่อเป็นหญิง ชาย และเด็กๆ จากมินยีในวันที่ 30 สิงหาคม”  สรุปรายงานขององค์กรแอมเนสตี้  มินยีเป็นอีกชื่อหนึ่งของหมู่บ้านตูลาโตลี้


พวกเขาอาจจะเผาบ้าน แต่จะไม่ฆ่าใคร
นายเราะฮฺมานบันทึกวีดีโอสัมภาษณ์ชาวโรฮิงญาผู้รอดชีวิตจากตูลาโตลี้ 30 คนโดยพวกเขาเล่าว่า เจ้าหน้าที่เมียนมาร์ระดับท้องถิ่นบอกกับชาวบ้านที่เป็นชาวโรฮิงญาว่าพวกเขาจะปลอดภัยถ้ายังคงอยู่ในหมู่บ้าน  นายมูฮัมหมัด นาซิรฺ เล่าให้ฟังว่าเขาถูกบอกว่า “พวกเขา (ทหารเมียนมาร์) อาจจะเผาบ้าน แต่พวกเขาจะไม่ฆ่าใคร” 


ชาวบ้านในตูลาโตลี้เล่าให้ฟังอย่างละเอียดว่า เฮลิคอปเตอร์ลงจอดใกล้หมู่บ้านตอน 8 โมงเช้าของวันที่ 30 สิงหาคม  ทหารพม่าร่วมกับชาวพุทธยะไข่อีก 50 คนและคนที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่โรฮิงญาที่มาจากนอกหมู่บ้าน  ได้จู่โจมเข้ามายังหมู่บ้าน  “พวกเขาบอกให้เราไปรวมตัวกันที่ริมแม่น้ำ  เมื่อพวกเขาเห็นชาวโรฮิงญาอยู่รวมกัน พวกเขาตรงดิ่งไปที่ชาวโรฮิงญาเหล่านั้น และยิงใส่พวกเขาอย่างต่อเนื่อง แล้วยังมีการจุดไฟเผาบ้านเรือนในเวลาเดียวกัน”  นาซิรฺกล่าว


ชาวโรฮิงญาอีกคนคือนางเรฮาน่า เบกุม เล่าเหมือนกันว่านางก็ถูกบอกให้ออกจากบ้านและไปยืนรออยู่ใกล้ริมแม่น้ำ  “พวกเขาให้เราไปอยู่ที่นั่นโดยบอกว่า พวกเขาจะไม่ทำร้ายพวกเรา  เวลาตอน 8 โมงเช้า  เฮลิคอปเตอร์ลงจอดและหมู่บ้านเราก็ได้ถูกปิดล้อม ใครที่ยังหนีทันก็รีบหนีไป  ทหารพม่าล้อมเราไว้อย่างกระทันหันและเราไม่สามารถหลบหนีไปได้  เพราะเรายืนรวมกันและมันติดกับแม่น้ำ  ตอนนั้นแม่น้ำมีคลื่นสูง  ไม่มีเรือเลยสักลำ   พี่ชายหลายคนของฉันสามารถอุ้มลูกๆ ฉันไปได้  และฉันก็ว่ายน้ำเป็นจึงหนีรอดไปได้   หลายต่อหลายคนถูกยิง  แล้วพวกเขาก็ล้มตัวลง  คนที่ล้มลงเหล่านั้นได้ถูกจับขึ้นมา ถูกสับเป็นชิ้นๆ แล้วโยนทิ้งลงในแม่น้ำ”  นางเรฮาน่าเล่าให้นายเราะฮฺมานฟังถึงเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัว


นางฮาซานะฮฺ หญิงชาวโรฮิงญาอีกคนหนึ่งที่ลี้ภัยมาจากตูลาโตลี้  เล่าให้ฟังว่า ทหารและพรรคพวกของเขาได้โยนลูกสาว ด.ญ.ซูไฮฟะฮฺ วัยหนึ่งขวบ เข้าไปในกองไฟขณะที่เด็กยังมีชีวิตอยู่   “พวกเขาแย่งลูกไปจากอ้อมแขนฉัน” แล้วนางก็ปล่อยโฮออกมา  “พวกเขาโยนลูกน้อยของฉันลงไปในกองไฟที่มีเสื้อผ้าเป็นเชื้อเพลิง พวกทหารจุดไฟด้วยการใช้ข้าวของของประชาชน แล้วพวกเขาโยนลูกของฉันลงไปในกองไฟขนาดใหญ่”


ส่วนสามีของนางฮาซานะฮฺได้ออกไปทำงานนอกหมู่บ้านในตอนที่ทหารพม่าบุกสังหารประชาชนชาวโรฮิงญา และได้มาพบกับภรรยาของเขาอีกครั้งที่บังกลาเทศ โดยที่มาทราบทีหลังว่า ลูกสาวคนเดียวของเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว


หัวหน้าหมู่บ้านเรียกชาวโรฮิงญากับชาวพุทธลงนามสนธิสัญญาสันติภาพ ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีความขัดแย้งใดๆ ระหว่างศาสนามาก่อน  


ก่อนหน้าที่ทหารเมียนมาร์และพรรคพวกได้บุกโจมตีหมู่บ้าน ในวันที่ 18 สิงหาคม หัวหน้าหมู่บ้านได้มีการเรียกชาวโรฮิงญา และชาวพุทธยะไข่จากตูลาโตลี้เข้าประชุมเพื่อลงนามสนธิสัญญาสันติภาพ


ขณะที่หมู่บ้านซึ่งมีชาวโรฮิงญา 4,360 คนและมีชาวพุทธยะไข่อยู่ 435 คน โดยทั้งฝ่ายไม่เคยมีความขัดแย้งหรือความรุนแรงระหว่างศาสนามาก่อน  แต่หัวหน้าหมู่บ้านกลับบอกว่าทางการต้องการคลายความกังวลและหวาดกลัวให้กับชาวโรฮิงญา เนื่องจากมีความตรึงเครียดกันระหว่าง 2 ศาสนาที่อื่นๆ ภายในรัฐยะไข่  และอีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือกองทัพเมียนมาร์ส่งกำลังทหารเสริมเข้ามายังพื้นที่มากขึ้น


“ในสนธิสัญญาระบุว่าทั้งชาวโรฮิงญาและชาวพุทธจะไม่มีการใช้ความรุนแรงและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  ทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามร่วมกัน ทั้งชาวพุทธยะไข่และพวกเรา แต่ทหารกลับเริ่มสังหารเราตอน 8 โมงเช้า”  นายนุรฺ กอบิรฺ  มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการประจำหมู่บ้านตูลาโตลี้ ซึ่งตอนนี้ลี้ภัยไปอยู่บังกลาเทศ  กล่าว


ผู้รอดชีวิตหลายคนต่างเล่าเหมือนกันว่า พวกเขามั่นใจต่อสนธิสัญญาเสรีภาพซึ่งลงนามร่วมกันในหมู่บ้านก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน  ความเชื่อใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐได้หายไปในทันทีเมื่อทหารได้โจมตีในตอนเช้าของวันที่ 30 สิงหาคม ผู้ที่หนีรอดไปได้บอกกับนายเราะฮฺมานว่า มีผู้เสียชีวิตจากการถูกทหารเมียนมาร์และพรรคพวกสังหารโหดประมาณ 1,500 – 1,700 รายภายในวันนั้นวันเดียว


นายเราะฮฺมานมั่นใจว่า  เหตุการณ์ที่หัวหน้าหมู่บ้านจัดให้มีการลงนามสนธิสัญญาเสรีภาพ และการที่กองทัพเมียนมาร์ส่งกำลังทหารเสริมในพื้นที่ก่อนวันที่ 25 สิงหาคมที่มีการปะทะกับกองกำลังติดอาวุธชาวโรฮิงญา และการสังหารหมู่ที่ตูลาโตลี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลเมียนมาร์วางแผนมาแล้วอย่างแยบยล  ซึ่งมันขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ที่รัฐบาลเมียนมาร์ได้ประกาศผ่านสื่อภายในประเทศ และมีการลงข่าวในโซเชียลมีเดียเช่นเฟสบุ๊กส์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า กองทัพได้ทำการตอบโต้กองกำลังติดอาวุธชาวโรฮิงญาเท่านั้น


ด้านนายซอว์ เท โฆษกรัฐบาลเมียนมาร์ได้ให้ข่าวว่า ทั้งชาวพุทธยะไข่และทหารพม่าถูกกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญาโจมตีในตูลาโตลี้  “เราสามารถตรวจสอบได้ว่าในวันที่ 30 สิงหาคม 2017 ที่หมู่บ้านมินยี (ตูลาโตลี้)  ได้มีการโจมตีชาวพุทธยะไข่และทหารเมียนมาร์ถึง 8 ครั้งโดยพวกก่อการร้ายที่มีจำนวนนับร้อยคน” 


ล่าสุดกองทัพเมียนมาร์เปิดเผยรายงานการสอบสวนภายในเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2017 โดยสรุปรายงานว่า ทางกองทัพไม่มีความผิดอย่างที่ถูกกล่าวหาเอาไว้ โดยปฏิเสธว่าทหารไม่มีการสังหารชาวโรฮิงญา  ไม่มีการเผาหมู่บ้าน ไม่มีการข่มขื่นสตรีและเด็ก และไม่มีการปล้นสะดมทรัพย์สิน   ซึ่งองค์กรนิรโทษกรรมสากลระบุถึงรายงานของกองทัพเมียนมาร์ฉบับนี้ว่า เป็นความพยายามที่จะ “ปิดบังความผิด” และมีการเรียกร้องให้ทีมสอบสวนหาข้อเท็จจริงของยูเอ็นได้ลงพื้นที่โดยเสรีภาพ[1]

อนาคตที่ดูเหมือนไร้ความหวัง


นางมุมตัซส์ค่อยๆ ฟื้นตัวจากแผลที่ไหม้และอาการบาดเจ็บต่างๆ ในบังคลาเทศ แต่ต้องประสบกับอนาคตที่ดูเหมือนไร้ความหวัง  สภาพความเป็นอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแออัด หน่วยงานด้านความช่วยเหลือต่างๆ กำลังพยายามจัดหาอาหาร ที่อยู่อาศัย และการรักษาพยาบาลให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ลี้ภัยที่ยังไหลทะลักเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย   


มุมตัสซ์และราซิยะฮฺเหลือกันสองคนแม่ลูก นางบอกว่าสามีของนางถูกยิงเสียชีวิตริมแม่น้ำ หนึ่งในลูกชายสามคมถูกโยนลงไปในกองไฟ และลูกชายอีกสองคนถูกฆ่าในกระท่อมที่มุมตัสซ์และราซิยะฮฺหนีออกมาได้ “น้องชายของฉันและคนอื่นๆ ถูกเผา พวกเขาถูกฆ่าโดยการถูกตีจนเสียชีวิต  แล้วพวกทหารได้ยิงพ่อของฉันตาย”


ศีรษะของด.ญ.ราซิยะฮฺมีแผลเป็นจากการถูกตี แต่ที่เลวร้ายที่สุดก็คือบาดแผลทางจิตใจที่เรื่องราวต่างๆ ยังคงอยู่ในความทรงจำของเด็ก เพราะเพิ่งประสบกับเรื่องเลวร้ายมาไม่นานมานี้ 
“เธอเห็น เด็กน้อยคนนี้เห็นทุกๆ อย่าง เด็กพยายามอุ้มพี่ชายที่กำลังถูกไฟเผา แต่เธอไม่สามารถช่วยชีวิตพี่ไว้ได้”  นางมุมตัสซ์กล่าว[2]
**********************************************************

กองทัพอิสราเอลสังหารเด็กกาซ่า 50 คน ภายใน 2 วัน

แคทเธอรีน รัสเซลล์ ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรยูนิเซฟ UNICEF ออกแถลงการณ์ประณามการโจมตีที่นองเลือดในฉนวนกาซาเหนือเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย...